วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

รู้จักจุลินทรีย์สุขภาพบิฟิตัส


 
 
คนเราสุขภาพจะแข็งแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการมากๆ เลยนะคะ อย่างเรื่องของ “จุลินทรีย์สุขภาพบิฟิดัส” ที่นำมาเสนอกันในวันนี้ เป็นสาระน่ารู้ที่เชื่อว่าหลายต่อหลายคนก็คงยังไม่ทราบ
จุลินทรีย์สุขภาพ(บิฟิดัส) เป็น จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนมีสุขภาพดี แข็งแรง มนุษย์เราจะได้รับจุลินทรีย์ตัวนี้โดยอัตโนมัติอยู่แล้วตั้งแต่แรกเกิด ด้วยวิธีการคลอดแบบธรรมชาติ และน้ำนมมารดา
จุลินทรีย์มีประโยชน์กับร่างกายคนเราถึง 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 มีผลต่อลำไส้ ในการจับกับผนังเยื่อบุทางเดินอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคเข้าไปสัมผัสกับเซลล์เยื่อบุ รวมไปถึงการปล่อยสารยั้บยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค ระดับที่ 2มีผลดีต่อเยื่อบุผิว ช่วยทำให้ชั้นเยื่อบุในทางเดินอาหารเรียงตัวแน่นขึ้น เพื่อกันไม่ให้เชื้อโรครุกล้ำผ่านเข้าไปได้ รวมถึงทำลายตัวรับสารพิษ (Toxin Receptor) อีกด้วย
และระดับที่ 3 มีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) และควบคุมการทำงานของเดนดริติกเซลล์ (Dendritic Cell) และเม็ดเลือดขาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัญหาคือหลายปีที่ผ่านมาสถิติการคลอดเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่คลอดแบบธรรมชาติมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก กลับค่อยๆ มีอัตราการผ่าตัดคลอดและมีน้ำนมไม่เพียงพอหรือไม่มีน้ำนมให้ลูกเลยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการผ่าตัดคลอดแบบปลอดเชื้อ การที่ทารกมีโอกาสสัมผัสกับจุลินทรีย์น้อยลง อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันหลังคลอดพัฒนาล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลต่อความเสี่ยงการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ และโรคติดเชื้อ
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงฮาเนีย ซาแยฟสก้า หัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์วอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ กล่าวอธิบายในงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในวันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันโภชนาการเนสท์เล่ ว่าปัจจัยที่ทำให้ทารกมีสุขภาพดีคือ การมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
โดยภูมิคุ้มกันที่สำคัญส่วนหนึ่งได้มาจากการได้รับจุลินทรีย์สุขภาพจากแม่ในระหว่างการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ (ผ่านทางช่องคลอด) และจากน้ำนมแม่ เช่น บิฟิดัส ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ รวมถึงช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง ทั้งนี้จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารมีมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งในร่างกายมนุษย์แต่ละคนจะมีจุลินทรีย์ที่เด่นๆ อยู่ประมาณ 170 สายพันธุ์
ซึ่งการฝากครรภ์และเข้ารับคำแนะนำจากสูตินารีแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจพิจารณาร่วมด้วยก็คือในส่วนของการเลือกนมสูตรเสริมจุลินทรีย์สุขภาพบิฟิดัส หรือ บิฟิดัส บีแอล ที่มีผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของทารกและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจในทารกและเด็กเล็กได้
ทางด้านการแพทย์ ประโยชน์ของจุลินทรีย์ยังถูกนำไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ อีกมากมาย ตามคุณสมบัติของแต่ละชนิดที่แตกต่างกันไป เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วที่มีประโยชน์ไม่เล็กเลยใช่ไหมละคะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
สถาบันโภชนาการเนสท์เล่ 

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555



ปลูกฝังลูกใส่หมวกกันน็อคเมื่อขี่จักรยาน 

  • ส่งเสริมให้ลูกใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่จักรยาน เพื่อความปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุ
  • หมวกกันน็อคที่มีคุณภาพควรสามารถปรับเลื่อนสายรัดใต้คางเพื่อความเหมาะสมได้
  • เมื่อใส่หมวกกันน็อคแล้ว ตัวหมวกไม่ควรขยับเลื่อนไปมาได้เกิน 1 นิ้ว ไม่ว่าจะเลื่อนไปทิศทางใด หากหมวกกันน็อคที่ลูกใส่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับศีรษะของลูก ไม่ฟิตพอดี จะทำให้หมวกเลื่อนหลุดออกจากศีรษะได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
  • ถ้าเกิดอุบัติเหตุ - ลูกตกจากจักรยาน และหมวกกันน็อคกระแทกพื้นจนแตกหรือกระเทาะ ควรเลิกใช้โดยเด็ดขาด เพราะหมวกที่กระเทาะหรือแตก จะไม่สามารถป้องกันศีรษะของเด็กได้ดีจากการกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกครั้ง
  • เด็กๆ เรียนรู้จากการที่พ่อแม่ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ดังนั้น หากจะฝึกให้ลูกใส่หมวกกันน็อค คุณควรใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่จักรยาน


ข้อควรพิจารณาในการซื้อรถจักรยานคันแรกให้ลูก 

  • หากลูกยังเล็ก ควรพิจารณาซื้อรถจักรยานที่มีล้อกันล้มที่ทำจากเหล็กมากกว่าทำกว่าด้วยพลาสติค
  • ไม่ควรซื้อรถจักรยานคันใหญ่เกินไปสำหรับรูปร่างของลูก โดยหวังให้ลูกใช้ขี่ไปจนโต เพราะว่ารถจักรยานคันใหญ่เกินไปจะทำให้ลูกทรงตัวและควบคุมรถลำบาก แถมยังเสี่ยงที่จะตกจากรถจักรยานได้ง่ายอีกด้วย จักรยานที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวของลูกคือ เมื่อลูกนั่งบนแป้นจักรยานแล้ว เข่าควรตรงไปด้านหน้า และสองเท้าเหยียดถึงพื้นได้
  • ราคาจักรยานอาจอยู่ประมาณ 1000 - 3000 บาท จริงอยู่อาจมีรถจักรยานราคาถูกขายตามท้องตลาด แต่อาจปรับแฮนด์รถไม่ได้ และคุณภาพของเบรคไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ควรตรวจสอบให้ดีก่อนเสียเงินซื้อรถจักรยานให้ลูก

ล้อกันล้มของรถจักรยาน 

  • หากลูกยังเล็ก ควรพิจารณาซื้อรถจักรยานที่มีล้อกันล้มที่ทำจากเหล็กมากกว่าทำกว่าด้วยพลาสติค
  • เมื่อลูกย่างเข้าสู่วัย 5-6 ขวบ อาจขี่จักรยานพอเป็นโดยไม่ต้องใช้ล้อกันล้มแล้วก็ตาม อย่าเพิ่งรีบให้ลูกเลิกใช้ล้อกันล้ม ควรรอจนกว่าลูกสามารถขี่จักรยานได้ตรงและคล่องตัวแล้วจริงๆ เพราะถ้าลูกตกรถจักรยานและเจ็บตัว อาจเสียความมั่นใจและไม่อยากขี่จักรยานอีกเลย
  • หากยังสองจิตสองใจ อยากให้ลูกฝึกขี่รถจักรยาน 2 ล้อได้อย่างคล่องแคล่วก่อน และยังไม่อยากตัดล้อกันล้มออก คุณอาจใช้วิธีปรับล้อกันล้มให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ ครึ่งนิ้ว - 1 นิ้วก็ได้ ลูกจะได้หัดทรงตัวบนรถจักรยาน 2 ล้อ โดยยังมีล้อกันล้มอยู่เผื่อรถจะล้ม

ในไม่ช้า ลูกจะขี่รถจักรยานได้อย่างมั่นใจ และใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในขณะเดียวกัน 



เรื่องและภาพ: Thaiparents.com 

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554


สายใยรัก  จากพ่อแม่สู่ลูกน้อยวัยเรียน
คุณแม่ครับ.....ผมทำเลขไม่ได้ครับ
 คุณแม่ครับ.....ช่วยผมเตรียมอุปกรณ์ ก.พ.อ.หน่อยครับ  คุณครูให้นำไปส่งวันพรุ่งนี้
 คุณพ่อครับ.....ศัพท์คำนี้แปลว่าอะไรหรือครับ
 คุณพ่อครับ.....ผมทำการบ้านไม่ได้ครับ
 คุณแม่ครับ.....ผมเหงาจังครับ
 และ.....คุณพ่อคุณแม่ครับ.....ผมสอบตกครับ
 คำพูดเหล่านี้ที่พรั่งพรูออกมาจากปากลูกน้อยของท่านล้วนมีความหมายมาก  คุณพ่อคุณแม่คะ  ท่านให้เวลากับลูกน้อยของท่านมากพอหรือยังคะ  หลาย ๆ ท่านอาจตอบว่า มากพอแล้ว แต่อีกหลายท่านอาจตอบว่ายังไม่พอ  มาให้เวลากับลูกและให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูกกันเถิด ก่อนที่จะสายเกินแก้ ลูกต้องการคำชี้แนะและกำลังใจจากพ่อแม่มาก  โดยเฉพาะช่วงวัยประถมศึกษา  ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต  หากลูกมีพื้นฐานที่ดีในวัยนี้แล้ว  เปรียบเสมือนรากฐานมี่มั่นคงของชีวิต  ลูกพร้อมจะเติบใหญ่เป็นบุคคลที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ  ในทางกลับกันหากลูกไม่ได้รับการเอาใจใส่ในวัยเด็กดีพอ  ลองหลับตาคิดดูว่าเด็กจะเติบโตมาเป็นบุคคลลักษณะใด  อาจจะสายเกินแก้  ท่านอาจจะเสียใจในตอนหลัง  ซึ่งเวลาอันงดงามเหล่านี้ไม่อาจเรียกร้องให้กลับคืนมาได้เลย
มีคำกล่าวว่า "พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก"  "พ่อแม่คือครูที่ดีที่สุดของลูก"  นักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านแนะนำว่า  การให้ลูกน้อยของท่านนั่งทำการบ้านอยู่กับท่าน  โอบกอดเขา ชมเชยเขา ให้กำลังใจเขา แนะนำปลอบโยนเขา ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึกมั่นคง มีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่ดี และเป็นบุคคลที่สังคมต้องการ
 คุณพ่อคุณแม่ครับ อย่าคิดว่าท่านสอนลูกของท่านไม่ได้ อย่ากลัวว่าจะสอนไม่ตรงกับแนวที่ครูสอน อย่ากลัวไปเลยค่ะ ความจริงแล้วท่านสามารถสอนลูกของท่านได้....ได้ดีทีเดียว  เพราะเนื้อหาวิชาในระดับประถมศึกษาไม่มีอะไรซับซ้อนมาก  หากท่านกังวลว่าจะสอนไม่ตรงแนวเดียวกันกับครู  วิธีแก้คือ ศึกษาแนวทางการสอนของครู  จากสมุดแบบฝึกหัดและหนังสือของลูก  การให้ลูกท่องศัพท์ สูตรคูณ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทุกวันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเรียนของลูกได้ดียิ่งขึ้น
ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปฏิบัติ  เพื่อพัฒนาตัวลูกให้มีความพร้อมด้านการเรียน
 1. หมั่นตรวจดูกระเป๋าหนังสือลูกทุกวัน  เพราะการตรวจกระเป๋าของลูกท่านจะได้ทราบภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับการเรียนของลูก ดูสมุดทุกเล่ม อาจมีงานที่ลูกจดไม่ทัน การบ้านอาจจะยังทำไม่เสร็จ หรือทำไปแล้วผิดพลาดมาก จะได้มีเวลาแก้ไขได้ทัน และอย่าลืมตรวจดูว่าลูกนำของต้องห้ามไปโรงเรียนด้วยนะคะ เช่น ของเล่น  หนังสือการ์ตูน (โป๊)
2. เซ็นสมุดจดการบ้านให้ลูกทุกวัน  เพราะการเซ็นสมุดจดการบ้านท่านจะได้ทราบความเป็นไปเกี่ยวกับตัวลูก  บางทีครูอาจจะเขียนเตือนด้านความประพฤติ การทำงาน หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการสื่อถึงผู้ปกครองลงในสมุดจดการบ้าน  และอีกทั้งยังจะได้ทราบว่า ลูกมีการบ้านวิชาใด มากน้อยแค่ไหน ต้องเตรียมอะไรบ้างในวันต่อไป มีกิจกรรมอะไรในวันรุ่งขึ้น
 3. จดหมายเวียนต่าง ๆ ทางโรงเรียนจะแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ทางจดหมายเวียน  และส่วนท้ายของจดหมายเวียนจะมีใบตอบรับจากผู้ปกครอง  อย่าลืมเซ็นให้ลูกทุกฉบับ  เพื่อครูจะได้มั่นใจว่าจดหมายเวียนทุกฉบับถึงมือท่านแล้ว  นักเรียนหลาย ๆ คนไม่ได้ให้ผู้ปกครองเซ็น  เมื่อถูกทวงถามบ่อย ๆ ลูกของท่านอาจขาดความมั่นใจได้
4. หาโอกาสพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ไต่ถามเรื่องราวเมื่อลูกอยู่ที่โรงเรียน  ควรรับรู้ว่าลูกสนิทกับเพื่อนคนใดบ้าง  และถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก  เพราะบางทีเราจะได้ข้อมูลของลูกจากเพื่อนเหล่านี้ก็ได้  การพูดคุยกับลูกจะมีโอกาสทราบว่า  ลูกชอบวิชาใด  กิจกรรมที่ทำแต่ละวัน  คุณครูที่ลูกชอบ ฯลฯ  ลูกจะภูมิใจที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับเขา  สนใจเขา  และจะนำมาซึ่งความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวในที่สุด
ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อ คุณแม่ทุกคนนะคะ  สวัสดีค่ะ
ครูฟ้า

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"ทฤษฎี7" สร้างพลังสมองให้ลูก


          ทฤษฎีโภชนาการ 7 กลุ่มอาหาร เหมาะสำหรับยุคสมัย มั่นใจว่าได้สารอาหารครบถ้วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมอง สติปัญญา และร่างกายเหมาะสำหรับยุคสมัย มั่นใจว่าได้สารอาหารครบถ้วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมอง สติปัญญา และร่างกายเพื่อลูกน้อยเติบโตแข็งแรงสมวัยอย่างเต็มศักยภาพขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมองและนักโภชนาการ ย้ำ 7 กลุ่มอาหารสร้างไอคิวได้         

          ดร. ขวัญ หาญทรงกิจพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพสมองในเด็ก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า เด็กจะมีพัฒนาการทางสมองอย่างเต็มที่ได้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ เพราะช่วงนี้เซลล์สมองจะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด จึงถือเป็นโอกาสทองสำหรับพ่อแม่ในการสร้างเสริมพลังสมองและสติปัญญาแก่ลูกน้อย

          “อาหารที่มีคุณภาพเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบหลักที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสมองในเด็ก นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องพันธุกรรมและกระบวนการเรียนรู้ผ่านสิ่งแวดล้อม การดูแลเอาใจใส่ให้เด็กรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ ให้คุณค่าสารอาหารที่ดีครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันจึงมีส่วนสำคัญมากในการสร้างเสริมสติปัญญา วางรากฐานเพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้านต่อไป”

          ดร. ขวัญย้ำในเวทีเสวนาวันนี้ว่า “ความแตกต่างของระดับสติปัญญาของคนเราขึ้นอยู่กับสมองของใครมีเยื่อไมอีลิน หรือเปลือกหุ้มเส้นใยประสาทที่เติบโตเต็มที่มากกว่ากัน เพราะเยื่อไมอีลินเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง ที่ส่งผลต่อความฉลาดและสติปัญญา ช่วยในการส่งสัญญาณประสาทได้เร็วและแม่นยำขึ้น ฉะนั้น การกระตุ้นให้เยื่อไมอีลินเติบโตอย่างเต็มที่จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริมพลังสมองในเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างเยื่อไมอีลินของลูกให้เพิ่มขึ้นได้จากอาหารที่ดีมีคุณภาพ และการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ โดยทฤษฎี 7 กลุ่มอาหารที่แนะนำในวันนี้ เป็นหลักการที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองและร่างกายทั้งหมด มีบทบาทสำคัญในการสร้างความฉลาดให้สมองได้เป็นอย่างดี”

          ด้าน เกศกนก สุกแดง นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเป็นผลดีต่อคนทุกเพศทุกวัย ทฤษฎี 7 กลุ่มอาหารเป็นหลักโภชนาการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเด็กวัย 1-3 ขวบซึ่งเป็นวัยทองแห่งพัฒนาการทางสมอง เพราะเป็นทฤษฎีที่เมื่อนำไปใช้ทำให้มั่นใจได้ว่าร่างการจะได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล แถมยังง่ายต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

          ตามหลักการของทฤษฎี 7 กลุ่มอาหาร ร่างกายต้องการชนิดอาหารในแต่ละวัน ดังนี้

          กลุ่มที่ 1 ธัญพืช อุดมไปด้วยกลุ่มวิตามินบี ซึ่งช่วยพัฒนาเรื่องความจำ และกรดโฟลิคที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบประสาทของเซลล์

          กลุ่มที่ 2 ผัก แหล่งรวมวิตามินซึ่งช่วยเรื่องกระบวนการคิดการเรียนรู้

          กลุ่มที่ 3 ผลไม้ เช่น สตอเบอร์รี่ ถ้าทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสมอง

          กลุ่มที่ 4 น้ำมัน ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างเยื่อไมอีลิน

          กลุ่มที่ 5 นม มีสารอาหารซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเยื่อประสาท

          กลุ่มที่ 6 เนื้อสัตว์ มีสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยปกป้องเซลล์สมองในเวลาที่เกิดความเครียด

          กลุ่มที่ 7 ถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุนานาชนิดทั้งแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมอง ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท

          โดยทฤษฎี 7 กลุ่มอาหารนี้จำแนกอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในแต่ละวัน ตามชนิดของอาหาร ผู้บริโภคจึงสามารถนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ และปฏิบัติตามได้ง่ายในชีวิตประจำวันไม่เกิดความสับสนในการเลือกรับประทาน และยังได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนและสมดุล

          “ใน 1 วัน เราควรรับประทานเนื้อสัตว์และถั่ว เพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะการบริโภคโปรตีนจากเนื้อมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อตับและไต โปรตีนจากพืชจะช่วยให้ร่างกายไม่ต้องทำงานหนักมากจนเกินไป และยังมีใยอาหารและแร่ธาตุต่างๆ อีกด้วย”

          เกศกนก ยกตัวอย่างเมนูอาหารเช้าเพื่อสุขภาพตามทฤษฎี 7 กลุ่มอาหาร คือ นม 1 แก้ว ขนมปังโฮลวีททาเนยถั่ว 1 แผ่น สลัดผักผลไม้ ใส่ปลาแซลมอน หรือไข่ต้ม เพียงเท่านี้ก็จะได้สารอาหารเพียงพอแล้ว และควรทานทุกมื้อให้ครบ 7 กลุ่มอาหาร

เมนูเพื่อลูกรัก

วงจรชีวิตของมนุษย์เริ่มตั้งแต่วัยเด็กทารก มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เรียกกันง่าย ๆ ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งวัยเด็กเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุด เพราะจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ที่อยู่ในช่วงอายุ 3 - 5 ขวบ เป็นวัยที่ถือว่า "วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่มีการเปลี่ยน แปลงจากวัยทารก ก้าวสู่ความพร้อมที่จะเรียนรู้ สังคมภายนอกที่กว้างออกไป จากสังคมปิดภายในครอบครัว ดังนั้นเราจึงควร สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กของเรา เพื่อไปเผชิญต่อสภาวะภายนอกบ้าน โดยเริ่มที่เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องแรก เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญ
1. อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญ แม้จะเร่งรีบสักปานใด ก็ต้องกินอาหารเช้า เพราะเป็นอาหารมื้อที่มีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาควรเตรียมให้ พร้อม เด็กหลายคนต้องตื่นแต่เช้า อาจยังไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหาร ควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากรับประทาน ทำอาหารที่เด็กชอบ และสร้างสรรค์เมนูใหม่ ไม่ให้เกิดความจำเจ
2. ฝึกให้เด็กมีนิสัยชอบกินผัก ซึ่งเรื่องของการกินผักกับเด็กค่อนข้างจะเป็นปัญหาใหญ่ เด็กหลายๆคนมักไม่ชอบผักเอาเลย เราลองย้อนมาดูสาเหตุกันซิว่าทำไมเด็กไม่ชอบ ซึ่งจะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วที่ไม่ชอบก็เพราะว่า ผักมีกลิ่นแรง รสไม่อร่อย ฉะนั้นการเริ่มต้นฝึกการกินผักโดยเลือกผักที่มีสีและน่าตาน่ารับประทาน เช่น แครอท ดอกกะหล่ำ แตงกวา บรอกโคลี เป็นต้น ใส่ลงไปชิ้นเล็ก ๆ ในอาหารก่อน เช่น ในข้าวผัด ซุป แกงจืด เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหารที่เด็กชอบ เอาไปชุบแป้งทอด ผสมในหมูสับทอด หรือนำไปลวกให้กลิ่นหายไปบ้าง นำมาคลุกเนยหรือ น้ำตาลเล็กน้อยเป็นการปรับรสชาติหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ แช่เย็นจะทำให้มีความกรอบที่เด็กชอบ
3. สร้างนิสัยช่วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น แปรงฟัน ทานข้าว แต่งตัว โดยผู้ปกครองคอยแนะนำ คอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเท่านั้น ในครั้งแรกอาจทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน จำไว้นะค่ะ ผิดถูกไม่เป็นไร ช่วยอยู่ห่าง ๆ คอยสอน คอยให้กำลังใจ อย่างใจเย็นๆในที่สุดเด็กน้อยของเราก็จะทำได้
4. เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากเพื่อนวัยเดียวกัน การทำเช่นนี้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่สำคัญ เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักปรับตัว
5.ประการสุดท้าย ขอย้อนกลับมาที่เรื่องอาหารที่ไม่ควรมองข้าม เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักติดใจรสหวานและซ่าของน้ำอัดลม ในน้ำอัดลมจะประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำตาล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรให้เด็กหลีกเลี่ยง

อย่าลืมนะค่ะ เด็กมักทำตามผู้ใหญ่ฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคนในบ้านต้องทำเป็นตัวอย่าง
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนสำหรับการสร้างเด็กให้มีสุขภาพดี และมีตำรับอาหารเด็กมาฝากกันเช่นเคย 2 ตำรับค่ะ ลองเอาไปทำให้เด็ก ๆรับประทานกันนะค่ะ


หมูม้วนสาหร่ายไข่กุ้ง

ส่วนผสม
หมูบด 1 ถ้วยตวง
กุ้งสับ 1 ถ้วยตวง
ไข่กุ้ง ¼ ถ้วยตวง
รากผักชีกระเทียมพริกไทยโขลกละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
ซอสหอยนางรม 2 ช้อนชา
แผ่นสาหร่าย
แครอท บรอกโคลี มะเขือเทศ
วิธีทำ
1.ผสมหมูบด กุ้งสับ รากผักชีกระเทียมพริกไทย ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย ซอสหอยนางรมและแป้งข้าวโพด นวดให้เข้ากัน พักไว้ 10 นาที
2.วางแผ่นสาหร่ายบนเขียง ตักส่วนผสมในข้อที่1 ทาให้ทั่วแผ่นแล้วทาทับด้วยไข่กุ้งม้วนเป็นแท่ง
3.นำไปนึ่งจนสุก ยกลงพักให้เย็นจึงมาหั่นชิ้นเสิร์ฟกับน้ำจิ้มและผักตามชอบ







ผลไม้ถ้วยซี๊ด

ส่วนผสม
แอปเปิลสีเขียว สีแดง 1 ถ้วยตวง
สับปะรด 1 ถ้วยตวง
องุ่น 1 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว ¼ ถ้วยตวง
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา
ไข่เป็ดต้มสุก 12 ฟอง
เบคอนหั่นสี่เหลี่ยมเล็กทอกกรอบ ½ ถ้วยตวง
ขนมปังกรอบ
เกลือป่น

วิธีทำ
1.เตรียมผลไม้โดยหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก แช่น้ำเย็นผสมเกลือป่นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ผลไม้ดำตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ
2.ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน
3.ไข่เป็ดต้มนำมาปอกเปลือกตัดด้านบนและควักไข่แดงออก
4.ตักผลไม้กับเบคอนที่เตรียมไว้ใส่ลงในไข่ 
5. เวลาเสิร์ฟจึงใส่น้ำยำลงไปเสิร์ฟทันทีกับขนมปังกรอบ

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ลูกเราสมาธิสั้นหรือเปล่า

บาง ครั้งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมาก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยได้ว่า ลูกเราปกติหรือไม่ เพราะบางท่านได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดพอ หรือเกิดอาการไม่แน่ใจพัฒนาการของลูกว่าปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอาการสมาธิสั้น ซึ่งดูออกค่อนข้างยาก ฉบับนี้เราจึงนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการ ว่าลูกเข้าข่ายสมาธิสั้นหรือไม่ ถ้าใช่จะได้หาทางแก้ไขได้ทันค่ะ

รู้จักโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมและอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเด็กก่อนอายุ 7 ปี เกิดจากความผิดปกติของสมอง และมีผลพอจะพิสูจน์ได้ว่าน่าจะเป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่จะมีวิธีการถ่ายทอดมาอย่างไรนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่มีการบ่งบอกว่ามีสมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสมาธิ ทำงานไม่สัมพันธ์กับระบบสั่งงานอื่นๆ

เด็กจะมีลักษะซน ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้มีปัญหาพัฒนาการด้านต่างๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ซึ่งอาการที่กล่าวไปเบื้องต้นนี้เอง ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นห่วง และเกิดความเข้าใจผิดว่าลูกเราผิดปกติหรือไม่

1. ไฮเปอร์แอกทีฟ (Hyperactivity)
คือ มีความบกพร่องทางพฤติกรรม มีอาการซนมากผิดปกติ ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ สังเกตจาก
- ไม่รู้จักระวังตัวเอง จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ 
- อยู่ไม่สุก นั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยได้ อยู่ไม่นิ่ง วุ่นวาย กระสับกระส่าย
- พูดคุยมากผิดปกติ ชอบพูดขัดจังหวะ ช่างฟ้อง รบกวนผู้ใหญ่ขณะพูดคุยมากเกินไป
- เล่นคนเดียวเงียบๆ ไม่ได้ ลุกลี้ลุกลน ใจร้อน อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่มีความอดทนในการรอคอย

2. สมาธิบกพร่อง (Inattentive)
- ทำกิจกรรมตามลำพังได้ไม่ดี ฟังคำสั่งยาวๆ จับใจความไม่ค่อยได้
- ทำกิจกรรมหนึ่งให้สำเร็จได้ลำบาก
- ขาดสมาธิ หรือความตั้งใจในการทำงานที่มีรายละเอียด
- ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าได้ง่ายมาก เหม่อลอยง่าย
- ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ขาดการจัดการวางแผนงานที่ดี

3. มีความบกพร่องในการคิดวางแผน (Impulsivity)
- ไม่รู้จักอดทน รอคอยไม่เป็น ใจร้อน วู่วาม ไม่ยั้งคิด
- เบื่อง่าย ควบคุมให้ตัวเองอยู่ในระเบียบ หรืออยู่ในกฎได้ยาก 
- หงุดหงิด โมโหง่าย 
- ชอบพูดแทรก หรือมักตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะถามจบ มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

เด็กที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิ มักถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน ชอบรบกวนเพื่อนๆ ผลการเรียน ไม่ดี ถูกครูลงโทษบ่อยกว่าเด็กคนอื่น และมักถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน นิสัยไม่ดี เป็นต้น

การที่จะบอกว่าเด็กคนไหนเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จะใช้เกณฑ์การเปรียบเทียบความสามารถทั่วๆ ไปในกลุ่มเด็กปกติในการตัดสิน เช่นเด็ก 7 ขวบ สามารถนั่งอยู่กับที่ได้นาน 15-30 นาที แต่ถ้าเด็กคนนั้นไม่สามารถนั่งได้ / เด็กนั่งเรียนอยู่ หรือ อ่านหนังสือ แค่เสียงของตก กิ่งไม้ตกก็วอกแวกได้ง่ายมาก ก็อาจจะสงสัยไว้ก่อน

อาการสมาธิสั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม ด้วยการดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิดจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าลูกจะมีอาการนี้หรือไม่อาจจะพบแพทย์เฉพาะทาง แต่ถ้าเทียบดูแล้วลูกมีพัฒนาการปกติ หรือซนแบบปกติ ก็ยังไม่ต้องกังวล หรือเหมารวมว่าลูกจะเป็นนะคะ

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ปลูกฝังเรื่องการเรียนแบบครอบครัวญี่ปุ่น

วัฒนธรรมญี่ปุ่นสอนให้เคารพต่อสังคมและมีการสร้างแรงจูงใจให้อยู่รวมเป็นกลุ่มโดยให้รางวัลเป็นกลุ่มมากกว่าจะให้รางวัลเป็นบุคคล การศึกษาของญี่ปุ่นเน้นหนักในเรื่องความขยัน การตำหนิตนเอง และอุปนิสัยการเรียนรู้ที่ดี ชาวญี่ปุ่นถูกปลูกฝังว่าการทำงานหนักและความขยันหมั่นเพียรจะทำให้ประสพความสำเร็จในชีวิต โรงเรียนจึงอุทิศให้กับการสอนทัศนคติ คุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม


เพื่อที่จะพัฒนาอุปนิสัยและมีเป้าหมายในการสร้างประชากรที่สามารถอ่านออกเขียนได้ และปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมและวัฒนาธรรมของสังคมได้ เขามองว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่น่าเคารพยกย่อง และความสำเร็จเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในงานและในสังคม ที่กล่าวคือปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความฉลาดแบบคนญี่ปุ่น ซึ่งบ้านเราเองก็สามารถนำมาปรับใช้และสร้างให้เด็กของเรามีความฉลาดในแบบของเราเองได้เช่นกันนะคะ


Tips เพิ่มความฉลาดให้กับลูกน้อย

• รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ เช่น ปลาเต้าหู้
• อาหารมื้อเที่ยงสำคัญ เด็กๆ ควรกินให้ครบ 5 หมู่ และถูกหลักโภชนาการ
• ดื่มนมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสารอาหารที่ช่วยในการพัฒนาสมอง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ดีต่อการเจริญเติบโตของร่างการ
• เลี้ยงลูกแบบให้เวลาและทำทุกอย่างเองให้กับลูกอย่างเต็มที่ด้วยความภูมิใจและเต็มใจ
• สอนให้เคารพต่อสังคมและมีการสร้างแรงจูงใจให้อยู่รวมเป็นกลุ่ม สร้างอุปนิสัยการเรียนรู้ที่ดี